การควบคุมโรคแอนแทรคโนสในสวนมะม่วง

  โรคแอนแทรคโนส มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides และจัดเป็นโรคที่สำคัญที่สุดของมะม่วง ที่ปลูกในสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างประเทศไทย เชื้อราก่อโรคแอนแทรคโนส สามารถสร้างส่วนขยายพันธุ์ขึ้นใหม่ และเข้าทำลายพืชได้ทุกระยะการเจริญของมะม่วงตลอดฤดูการปลูก จึงทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก อาการของโรคเกิดได้กับส่วนต่างๆของพืชได้แก่ อาการใบจุด ใบและกิ่งแห้งตาย อาการทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นแหล่งสะสมเชื้อที่จะแพร่ระบาดเข้าทำลายผลมะม่วงที่กำลังพัฒนา โดยเชื้อจะอยู่ในระยะพักตัว จนกระทั่งมะม่วงแก่และถึงระยะเก็บเกี่ยว ต่อมาเมื่อผลใกล้สุก เชื้อจะเริ่มพัฒนาใหม่และทำลายผลมะม่วงก่อให้เกิดอาการผลเน่าเสีย ซึ่งจัดเป็นโรคที่สำคัญในระยะหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วง จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการส่งไปจำหน่ายทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะมะม่วงที่ใช้รับประทานแบบผลสุกและเปลือกบาง จะถูกเชื้อเข้าทำลายได้ง่าย เช่นพันธุ์น้ำดอกไม้ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมจากตลาดต่างประเทศ และมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดกว่าพันธุ์อื่นๆ


การจัดการระบบการควบคุมโรคแอนแทรคโนสในสวนมะม่วง ประกอบด้วย
1. การจัดการภายในสวน
  - ต้องมีการตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มให้โปร่ง เพราะต้นมะม่วงที่แตกกิ่งก้านหนาแน่น เป็นที่สะสมของโรคและแมลง เป็นอย่างดี แสงแดดส่องถึงทำให้บรรยากาศในพุ่มแห้ง ไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค
  - การตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับสรีรวิทยาของต้น ช่วยให้ต้นมะม่วงจัดระบบการใช้แร่ธาตุอาหารได้ดี มีผลต่อการพัฒนาผลมะม่วง และยังเป็นวิธีที่ลดปริมาณการใช้สารเคมีได้

2. การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคพืช
  สารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก คือสารเคมีประเภทสัมผัส ได้แก่ แมนโคเซ็บ กลุ่มสารประกอบทองแดงหรือ คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ คอปเปอร์ซัลเฟต และ คอปเปอร์อ๊อกซี่คลอไรด์ สารเคมีประเภทดูดซึม ได้แก่ คาร์เบนดาซิม อะซ็อกซี่สโตรบิน และ โปรคลอราซ
  ทั้งนี้ไม่ควรใช้สารเคมีชนิดเดียวอย่างต่อเนื่องหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมทั้งไม่ใช้ในอัตราที่สูงเกินกว่ากำหนด เพราะนอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองแล้วยังจะมีผลต่อการพัฒนาความต้านทานต่อสารเคมีของเชื้อก่อโรค และมีผลกระทบต่อคนและสัตว์ในเรื่องของพิษตกค้าง และยังทำลายกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ในอัตราที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ควรทำการศึกษาอย่างละเอียดก่อนการใช้ และควรมีการใช้สารจับใบเพื่อเสริมประสิทธิภาพ


  สำหรับสวนที่มีประวัติการแพร่ระบาดของโรคแอนแทรคโนสอย่างต่อเนื่อง มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ควรเลือกสารเคมีดังกล่าวข้างต้น และผสมกับสารจับใบเพื่อเสริมประสิทธิภาพฉีดพ่นสลับกันระหว่างสารชนิดสัมผัสและสารชนิดดูดซึม ทุก 10 ? 15 วัน ตั้งแต่ภายหลังตัดแต่งกิ่ง จนกระทั่งถึงระยะห่อผล เพื่อเป็นการลดปริมาณของเชื้อที่เจริญแบบแฝงภายในลำต้น ทั้งนี้ต้องมีการรักษาความสะอาดภายในสวน โดยเฉพาะบริเวณโคนต้น ต้องหมั่นกำจัดวัชพืช และเศษซากพืชที่ร่วงหล่นออกไปให้หมด เพราะเป็นแหล่งสะสมของทั้งเชื้อโรคและแมลงศัตรู ถ้าสภาพอากาศมีความชื้นสูง หรือมีหมอกจัดในตอนเช้า และแดดร้อนในช่วงกลางวัน หรือมีฝนตกต่อเนื่อง ควรเลือกสารเคมีชนิดดูดซึมเช่น โปรคลอราซ ฉีดพ่นเพิ่มเติมจากโปรแกรมที่กำหนดไว้ เพราะเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเข้าทำลายของเชื้อ โดยควรมีระยะเวลาที่สารเคมีสัมผัสกับใบไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้วิธีการฉีดพ่นสารเคมีต้องฉีดให้ละอองของยาสัมผัสอย่างทั่วถึงทั้งทรงพุ่ม และฉีดพ่นสารเคมีกับผลมะม่วงที่อยู่ในระยะที่สามารถห่อผลได้แล้วเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างในผลผลิตเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด การดูแลตลอดระยะก่อนการเก็บเกี่ยว ควรมีการเลือกใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงที่ตรงกับแมลงศัตรูที่มีการแพร่ระบาดในช่วงระยะเวลานั้นๆ เพราะแมลงศัตรูบางชนิดนอกจากเป็นตัวทำลายกัดกินใบหรือดูดกินน้ำเลี้ยงแล้ว ยังเป็นพาหะในการแพร่ระบาดของโรคอีกด้วย


เอกสารอ้างอิง


-



ร่วมแสดงความคิดเห็น