หลักการผลิตมะม่วงที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างและปลอดศัตรูพืช

เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลและป้องกันกำจัดศัตรูพืชในสวนมะม่วงโดยการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย และการใช้วิธีผสมผสาน ควรมีแนวปฏิบัติดังนี้

การเลือกใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย

  1. เลือกซื้อสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีคุณภาพและถูกต้องตามกฎหมาย
    • ไม่ซื้อสารเคมีที่มีฉลากไม่ชัดเจน เลอะเลือน หรือมีข้อมูลบนฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่มีเลขทะเบียน ไม่ระบุผู้ผลิต-และผู้จำหน่าย ไม่ระบุวัน เดือน ปี ที่ผลิต
    • ไม่ซื้อสารเคมีที่ระบุวัน เดือน ปี ที่ผลิตเกินกว่า 2 ปี(นับจากวันที่ผลิต)
    • ไม่เลือกซื้อสารเคมีที่มีราคาถูกเกินกว่าราคาจำหน่ายปกติของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายอื่น ซึ่งมีโอกาสจะได้สารเคมีปลอมปนหรือไม่ได้มาตรฐานที่มักนำมาจำหน่ายโดยพ่อค้าเร่ หรือผู้ที่จำหน่ายแบบซ่อนเร้น ปิดบัง
    • ใช้สารเคมีที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเลขทะเบียนวัตถุอันตรายและมีคำแนะนำบนฉลากให้ใช้กับมะม่วง ไม่ใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตรที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย
  2. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องเหมาะสม
    • สำรวจและติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ตัดสินใจเลือกใช้สารเคมีได้ถูกต้องตามชนิดของศัตรูพืชเพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีเกินความจำเป็นและลดต้นทุนการผลิต
    • ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการผลิตมะม่วงตามคำแนะนำของนักวิชาการ หรือคำแนะนำที่ประกาศจากกรมวิชาการเกษตร
    • พ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในช่วงแดดจัดหรือลมแรง และขณะปฏิบัติงานผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา โดยพ่นจากบริเวณรอบนอกของแปลงปลูกเข้าสู่กลางแปลง
    • จดบันทึกการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
    • ต้องหยุดใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนการเก็บเกี่ยว ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในฉลากกำกับการใช้ หรือคำแนะนำการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการผลิตมะม่วง
    • ควรทำการวิเคราะห์สารพิษตกค้างก่อนการเก็บเกี่ยวในผลผลิตมะม่วงกับหน่วยงานที่รับตรวจวิเคราะห์ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตต่างๆ ฯลฯ

การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน

  1. วิธีเขตกรรม เพื่อให้ต้นมีความสมบูรณ์แข็งแรงและปรับสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะสมกับศัตรูพืช ควรมีการตัดแต่งกิ่ง ให้น้ำ ให้ปุ๋ย และการห่อผล เพื่อช่วยลดการใช้สารเคมี
  2. วิธีกลและฟิสิกส์ เพื่อลดปริมาณของศัตรูพืช โดยมีการใช้กับดักกาวเหนียว กับดักแมลงวันผลไม้ กับดักแสงไฟ ทำให้ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  3. วิธีชีววิธี เพื่อใช้ศัตรูธรรมชาติและสารธรรมชาติจากพืช มาทดแทนการใช้สารเคมี เช่น ใช้สารสะเดา หรือหางไหล (โล่ติ้น) ควบคุมเพลี้ยจั๊กจั่นหรือใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน ควบคุมศัตรูพืชทำให้ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

การผลิตมะม่วงให้ปลอดภัยจากศัตรูพืช

เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจการเข้าทำลายของหนอนผีเสื้อเจาะผลมะม่วง แมลงวันผลไม้ เพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่น และโรคแอนแทรคโนส ในช่วงแตกใบอ่อน ระยะแทงช่อ และติดผลอ่อน โดยทำการสำรวจทุก 7-10 วัน เพื่อประเมินจำนวนหรือความเสียหายระดับเศรษฐกิจแล้วทำการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำ ควรเก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสมโดยใช้ตะกร้อ กรรไกรหรือใบมีดตัดก้านให้เหลือขั้วผลยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำยางไหลเปื้อนผลระมัดระวังอย่าให้เกิดแผลบนผลมะม่วง เช่น รอยขีดข่วน แตกหรือช้ำเนื่องจากตกกระแทกพื้นดิน และไม่ควรวางผลที่เก็บเกี่ยวแล้วบนพื้นดินโดยไม่บรรจุลงในภาชนะที่เหมาะสม ตัวอย่างระยะเก็บเกี่ยวของมะม่วงแต่ละสายพันธุ์สำหรับบริโภคสด(ดิบและสุก) เช่น

  • พันธุ์เขียวเสวยมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 105 วันนับตั้งแต่ออกดอกหรือ 91 วันหลังช่อดอกติดผล 50 เปอร์เซ็นต์
  • พันธุ์แรด มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 77 วันหลังช่อดอกติดผล 50 เปอร์เซ็นต์
  • พันธุ์น้ำดอกไม้มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 115 วันนับตั้งแต่ออกดอก หรือ 93 วันหลังติดผล 50 เปอร์เซ็นต์

หากเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงสามารถปฏิบัติตามแนวทางทั้งหมดที่กล่าวมา ก็จะช่วยทำให้การผลิตมะม่วง มีคุณภาพ ปราศจากศัตรูพืชและมีความปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง



ร่วมแสดงความคิดเห็น