ช้างน้าว กล้วยไม้พื้นเมืองกับวิถีชีวิตแบบธรรมชาติของชาวบ้าน………หากมีโอกาสได้ไปจังหวัดรอบนอกทางภาคเหนือตอนบน อาทิ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หรือ น่าน จะพบว่า ชีวิตของชาวบ้านส่วนใหญ่มักมีความผูกพันกับกล้วยไม้พื้นเมือง สังเกตได้จากตามบ้านเรือนของชาวบ้านนิยมปลูกกล้วยไม้หลากหลายชนิดไว้กับต้นไม้ใหญ่หน้าบ้าน และในบรรดากล้วยไม้ต่างๆเหล่านั้น ช้างน้าว เป็นกล้วยไม้อีกชนิดหนึ่งที่พบเจอได้แทบทุกบ้าน ความสวยและมีจุดเด่นเฉพาะตัวของช้างน้าวจึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็น ช้างน้าว เป็นชื่อเรียกที่ชาวบ้านไม่คุ้นเคยมากนัก เพราะปกติแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่มักเรียกว่า เอื้องตาควาย คำว่า “เอื้อง” เป็นคำเรียก กล้วยไม้ ซึ่งนิยมใช้เรียกกันทางภาคเหนือ
ช้างน้าว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrobium pulchellum Roxb. ex Lindl. ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยยาวตั้งแต่ 1 ถึง 2 เมตร แตกกอใหญ่มาก ใบสีเขียวยาวประมาณ 10 ถึง 15 เซนติเมตร รูปขอบขนานแกมใบหอก กาบใบมีเส้นสีม่วงตามยาวเห็นได้ชัดเจน ช่อดอกเกิดบนลำลูกกล้วยที่แก่และทิ้งใบแล้ว โดยแตกออกจากข้อส่วนปลายลำและห้อยลง ปกติจะมี 5-10 ดอกต่อช่อ ดอก มีขนาดค่อนข้างใหญ่ กลีบนอกและกลีบในมีสีเหลืองครีม หรือสีชมพูอ่อนโดยมีเส้นสีชมพูเรื่อๆ ผิวกลีบเป็นมันคล้ายขี้ผึ้ง ด้านหลังกลีบฉาบด้วยสีชมพูปนม่วง ปากมีลักษณะห่อขึ้น มีขน มีแต้มสีม่วงแดงสองข้างของปากด้านใน กลีบนอกรูปใบพาย กลีบในรูปไข่ ดอกออกประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนมีนาคม หรืออาจถึงเดือน เมษายน ดอกบานเต็มที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์
ช้างน้าว เป็นเพียงกล้วยไม้พื้นบ้านและปลูกตามวิถีชาวบ้าน เป็นกล้วยไม้ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าความสวยงามและมีเสน่ห์อยู่ตลอดกาล ช้างน้าว จึงเป็นกล้วยไม้ที่ควรอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป
โรคของผลไม้หลังเก็บเกี่ยว |
ทำไมเปิดไฟให้ต้นไม้ |
สะแล พืชพื้นบ้านที่มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการ |
ความสับสนในสมุนไพรวงศ์ขิง |
Internet of Things สำหรับ Smart Farmer |
บทความทั้งหมด |