เห็ดถอบจากพื้นที่ป่าภาคเหนือตอนบน

เห็ดป่าหลายชนิดมีความสำคัญกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ด้วยมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตในการเป็นอาหารและยารักษาโรค เห็ดป่าหลายชนิดสามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน และเห็ดชนิดหนึ่งที่ทำรายได้จำนวนมากแก่ชาวบ้านทุกปี ได้แก่ เห็ดถอบหรือเห็ดเผาะนั่นเอง


เห็ดถอบ (Astraeus hygrometricus (Pers.) Morg.) เป็นชื่อที่นิยมเรียกกันทางภาคเหนือ จัดว่าเป็นเห็ดเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง เพราะแต่ละปีสร้างรายได้จำนวนมากให้แก่ชาวบ้านในช่วงระยะเวลาสั้นๆที่เป็นฤดูกาลเห็ดถอบซึ่งมีเพียงครั้งเดียวต่อปีในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน และได้รับความนิยมบริโภคมาก


เห็ดถอบเป็นเห็ดที่มีราคาค่อนข้างแพง โดยเฉพาะตอนต้นฤดูฝนมีราคาสูงถึงลิตรละ 200-300 บาท (ลิตรเป็นกระป๋องตวงข้าวสารที่ชาวบ้านใช้ในการซื้อขายเห็ดถอบ ไม่นิยมซื้อขายเป็นกิโลกรัม ซึ่งเห็ด 1 ลิตรหนักประมาณ 0.5 กิโลกรัม) ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพเก็บเห็ดมีรายได้ต่อวันคนละไม่น้อยกว่า 1,000-2,000 บาท โดยเฉพาะในปีนี้มีปริมาณเห็ดถอบที่เกิดขึ้นมาก ชาวบ้านจึงมีรายได้เพิ่มมากขึ้น


คนทั่วไปนิยมบริโภคดอกเห็ดถอบอ่อน โดยนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด อาทิ เห็ดถอบต้มเค็ม แกงเห็ดถอบใส่ยอดมะขาม แกงเผ็ดเห็ดถอบ เห็ดถอบผัดใส่หน่อไม้ ห่อหมกเห็ดถอบ ดังนั้นเมนูเห็ดถอบจึงมีหลากหลายประเภทขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล


สำหรับคุณค่าทางอาหารของเห็ดถอบ เมื่อนำเอาเห็ดถอบบางแหล่งไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการพบว่า เห็ดถอบมีปริมาณธาตุอาหารและแร่ธาตุไม่ได้น้อยไปกว่าเห็ดชนิดอื่นๆ อาทิ มีปริมาณโปรตีน 4.6 กรัม ปริมาณแคลเซียม 33.8 มิลลิกรัม ปริมาณธาตุเหล็ก 7.8 มิลลิกรัม ปริมาณวิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม และวิตามินบี 2 0.08 มิลลิกรัม


เห็ดถอบสามารถเจริญได้ในพื้นที่ป่าเบญจพรรณ ป่าแพะ ป่าสน โดยมีไม้ใหญ่จำพวก ไม้สัก ไม้เหียง ไม้ตองตึง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ยางนา เป็นต้น ดอกเห็ดพบได้ตามพื้นดิน โขดหิน โคนต้นไม้ และพุ่มไม้ ดอกเห็ดมีลักษณะกลมแบน มีทั้งขนาดเล็กถึงใหญ่ สำหรับสีดอกเห็ดมีทั้งสีขาวออกเหลือง น้ำตาลอ่อน น้ำตาลเข้ม หรือเทาดำ ซึ่งสีของดอกเห็ดอาจขึ้นกับอายุของเห็ด และอาจขึ้นกับสภาพพื้นที่ป่าด้วย เช่น ดอกเห็ดที่พบในดินทรายมักมีสีน้ำตาลอ่อน ดอกเห็ดที่พบตามซอกหินหรือโขดหินมีสีขาวออกเหลือง ดอกเห็ดสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำเป็นดอกเห็ดที่ค่อนข้างแก่และโผล่พ้นดินมาหลายวัน ส่วนขนาดของดอกเห็ดที่พบจากพื้นที่ป่าต่างๆไม่แตกต่างกันมากนัก




ร่วมแสดงความคิดเห็น