เห็ดพิษ



เห็ดส่วนใหญ่ที่นำมาบริโภค ได้แก่ เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดเป๋าฮื้อ และเห็ดอีกหลายชนิด มีคุณค่าทางอาหารประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุและวิตามินชนิดต่างๆ แตกต่างกันออกไป และอาจกล่าวได้ว่าเห็ดสามารถนำมาใช้เป็นอาหารที่มีคุณค่าเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ จึงเหมาะสำหรับผู้บริโภคที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ หรือผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพ เนื่องจากเห็ดไม่มีสารคลอเรสเตอรอล ที่เป็นอันตรายต่อระบบไหลเวียนของโลหิต และพบว่ามีปริมาณโซเดียมต่ำ จึงจัดเป็นอาหารที่เหมาะแก่ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ ได้แก่ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ ไต หัวใจ และความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามการจำแนกประเภทของเห็ด สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มได้แก่

  1. กลุ่มที่ใช้เป็นอาหาร เห็ดมีคุณค่าทางอาหารหลายชนิดโดยเฉพาะโปรตีนและวิตะมิน ได้แก่ เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า และเห็ดเป๋าฮื้อ เป็นต้น
  2. กลุ่มที่ใช้เป็นยาสมุนไพร เห็ดนอกจากเป็นอาหารแล้วยังมีคุณค่าในเรื่องของสรรพคุณทางยา ได้แก่ เห็ดหลินจือ เห็ดหอม
  3. กลุ่มเห็ดที่มีพิษ เห็ดในกลุ่มนี้หลายชนิดมีพิษรุนแรง หากบริโภคเข้าไปอาจทำให้เสียชีวิต ได้แก่ เห็ดระโงกหิน (ภาคกลาง) เห็ดระงาก (ภาคอีสาน) เห็ดเหล่านี้แม้จะต้มให้สุกเป็นเวลานาน แต่ยังคงความเป็นพิษเพราะความร้อนไม่สามารถสลายสารพิษที่อยู่ในเห็ดกลุ่มนี้


เนื่องจากภูมิอากาศของประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้พบเห็ดหลากหลายชนิด ซึ่งรวมทั้งเห็ดที่มีพิษอีกหลายชนิดด้วย ปัญหาที่สำคัญเมื่อพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ ส่วนใหญ่แล้วแพทย์หรือแม้แต่ผู้ป่วยไม่รู้จักเห็ดชนิดนั้น อย่างไรก็ตาม ในเห็ดพิษชนิดเดียวกันอาจมีสารพิษอยู่หลายชนิดต่างๆ กัน ตามพื้นที่ที่เห็ดขึ้น รวมทั้งการพิสูจน์ว่าเป็นเห็ดชนิดใด อาจต้องใช้เวลามากจนให้การรักษาไม่ทันการ การวินิจฉัยและการรักษาภาวะพิษจึงขึ้นอยู่กับลักษณะทางคลินิก โดยเฉพาะอาการแสดงเบื้องต้นและระยะเวลาที่เริ่มแสดงอาการเป็นสำคัญ โดยทั่วไปแล้วเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้อาจมีรูปทรงคล้ายคลึงกัน จึงมีคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เก็บเห็ดที่มีพิษมากินจนทำให้เสียชีวิตไปแล้วหลายราย สำหรับเห็ดพิษในประเทศไทย สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย ได้จำแนกเห็ดพิษที่สำรวจพบโดยจัดทำหนังสือเห็ดพิษ แยกตามกลุ่มสารพิษได้เป็น 7 กลุ่มดังนี้

  1. กลุ่มที่สร้างสารพิษ Cyclopeptides เป็นสารพิษที่ทำลายเซลล์ของตับ ไต ระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด ระบบหายใจและระบบสมอง ทำให้ถึงแก่ชีวิตภายใน 4-10 ชั่วโมง นับได้ว่าเป็นสารพิษในเห็ดที่ร้ายแรงที่สุด เห็ดพิษที่อยู่ในกลุ่มนี้ที่พบในประเทศไทยของเราได้แก่ เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ตายซาก
  2. กลุ่มที่สร้างสารพิษ Monomethylhydrazin สารพิษนี้ทำให้ถึงแก่ความตายหากรับประทานเห็ดดิบและน้ำต้มเห็ด โดยทำลายระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาทและทำลายเซลล์ตับ ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบอยู่หนึ่งชนิด คือ เห็ดสมองวัว
  3. กลุ่มที่สร้างสารพิษ Coprine สารพิษในกลุ่มนี้มีผลต่อระบบประสาทต่อเมื่อรับประทานกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เห็ดในกลุ่มนี้ได้แก่ เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึกหรือเห็ดถั่วที่ขึ้นตามธรรมชาติ แต่เห็ดถั่วหรือเห็ดโคนน้อยที่เพาะเป็นการค้าในปัจจุบันมาจากสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกว่าปลอดสารพิษ Coprine
  4. กลุ่มที่สร้างสารพิษ Muscarine สารพิษในกลุ่มนี้มีผลต่อระบบประสาท ทำให้ผู้รับประทานเกิดอาการเพ้อคลั่ง เคลิบเคลิ้มและหมดสติอยู่เป็นเวลานาน ไม่มีผลทางสมอง คนป่วยอาจไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่มีอาการโคม่า ยกเว้นมีโรคอื่นแทรกซ้อน ได้แก่ เห็ดเกล็ดดาว (Amanita pantherina)
  5. กลุ่มที่สร้างสารพิษ Ibotenic acid และ Muscimol สารพิษในกลุ่มนี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการเพ้อคลั่ง เห็ดที่สร้างสารพิษชนิดนี้ ได้แก่ เห็ดบางพันธุ์ในตระกูล Amanita (เห็ดระโงกหิน) รวมทั้ง A. muscaria ชนบางเผ่ารวมทั้งชาวอเมริกันในบางรัฐ นิยมเสพเห็ดเหล่านี้เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน สารพิษในกลุ่มนี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการเพ้อคลั่ง
  6. กลุ่มที่สร้างสารพิษ Psilocybin และ Psilocin เห็ดพิษที่มีสารกลุ่มนี้ หากรับประทานเข้าไปจะทำให้มีอาการประสาทหลอน มึนเมา อาจถึงขั้นวิกลจริต กล่าวว่าช่วงแรกมีอาการเห็นทุกอย่างเป็นสีเขียวหมด ต่อมาอาการถึงจะเป็นปกติ และอาจถึงตายได้ถ้ารับประทานเป็นจำนวนมาก สารพิษมีฤทธิ์เหมือนกัญชาจึงเป็นที่ต้องการของตลาด ในประเทศไทยจึงมีการแอบซื้อขายกันอย่างลับๆ ตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง จัดว่าเป็นเห็ดที่เป็นยาเสพติด เห็ดในกลุ่มนี้มีหลายชนิดได้แก่ เห็ดขี้ควาย เห็ดขอนเกล็ดสีแดง
  7. กลุ่มที่สร้างสารพิษ Gastrointestinal สารพิษชนิดนี้ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง อาจถึงแก่เสียชีวิตได้หากรับประทานในจำนวนมาก เมื่อรับประทานแบบดิบจะเป็นพิษ แต่สามารถรับประทานได้ถ้าต้มสุกแล้ว เพราะความร้อนทำลายพิษให้หมดไป นอกจากนี้เห็ดชนิดเดียวกันบางคนที่รับประทานเข้าไปอาจแสดงอาการจากการได้รับพิษ หรือบางคนก็ไม่แสดงอาการอะไรเลยก็ได้เช่นกัน เห็ดในกลุ่มนี้มีหลายชนิดได้แก่ เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เห็ดกรวยเกล็ดทอง เห็ดแดงน้ำหมากเห็ดไข่เน่า และเห็ดไข่หงส์ เป็นต้น


การรักษาผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ ที่สำคัญที่สุดคือ แพทย์จะทำการรักษาประคับประคองให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตราย โดยการลดปริมาณสารพิษที่ผู้ป่วยได้รับ และเร่งขับสารพิษออกจากร่างกาย ดังนั้นถ้าผู้ป่วยยังไม่อาเจียนควรกระตุ้นให้อาเจียน หรือใช้สายยางสวนล้างกระเพาะอาหาร ในกรณีที่ทำให้อาเจียนไม่ได้ ให้ผู้ป่วยทุกรายรับประทานผงถ่าน และถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการท้องร่วงควรให้ยาระบายด้วย หลังจากที่สภาพของผู้ป่วยมีเสถียรภาพแล้ว แพทย์ผู้รักษาจะสัมภาษณ์ประวัติ และดำเนินการเพื่อให้ได้การวินิจฉัยถึงชนิดของสารชีวพิษจากเห็ดที่ผู้ป่วยได้รับ เพื่อให้การรักษาที่จำเพาะต่อไป



เอกสารอ้างอิง


  1. Lincoff.G.H. and P.M. Michell 1977. Toxic and Hallucinogenic Mushroom Poisoning, a Hhandbook for physicians and Mushroom Hunter. Van Nostrand & Reinhlod Co., New York.
  2. สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย. เห็ดพิษ กรุงเทพฯ 2543. บริษัทนิวธรรมดาการพิมพ์ (ประเทศไทย) จำกัด



ร่วมแสดงความคิดเห็น