ลักษณะผิดปกติจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

โดยทฤษฎีกล่าวว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นวิธีการเพิ่มจำนวนต้นอ่อนของพืชที่ทำให้ได้ต้นอ่อนจำนวนมากโดยมีพันธุกรรมเหมือนต้นแม่ทุกประการ แต่บางครั้งยังพบลักษณะผิดปกติปรากฏขึ้นได้ แต่พบได้น้อยเมื่อเทียบกับปริมาณต้นอ่อนที่ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากเนื้อเยื่อเจริญเติบโตในอาหารเพาะเลี้ยงที่มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ รวมถึงได้รับการกระตุ้นให้มีการแบ่งเซลล์อย่างรวดเร็วจนทำให้ส่วนประกอบภายในเซลล์พัฒนาไม่ทันจึงเกิดความผิดปกติของบางเซลล์หรือกลุ่มเซลล์ขึ้นได้ ลักษณะผิดปกติที่พบได้บ่อย เช่น ลักษณะใบผิดรูป ขอบม้วนหงิกงอ ฉ่ำน้ำ ใบด่าง มีสีซีด หรือไม่มีสีเขียวของคลอโรฟิลล์แม้ว่าต้นพืชได้รับแสงเต็มที่แล้วก็ตาม ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะที่ไม่ถาวร เมื่อตัดย้ายไปเลี้ยงบนอาหารใหม่ลักษณะที่ผิดปกตินี้จะหายไปได้ และพืชที่มีสีเขียวซีดเมื่อนำออกให้ได้รับแสงแดดช่วงระยะเวลาหนึ่ง คลอโรฟิลล์จะพัฒนาได้ สำหรับพืชที่ไม่มีเม็ดสีหรือคลอโรพลาสต์อยู่เลย ต้นจะมีลักษณะขาวเผือกและมักจะอ่อนแอ และไม่สามารถเจริญเติบโตในสภาพบรรยากาศปกติได้ แต่ยังสามารถเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนได้บนอาหารสังเคราะห์ในสภาพปลอดเชื้อ


สารควบคุมการเจริญเติบโต(growth regulator) มีผลต่อการพัฒนาของเนื้อเยื่อพืชอย่างยิ่ง สารกลุ่มนี้โดยปกติพืชต้องการเพียงเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นให้มีการแบ่งเซลล์และมีการพัฒนาเป็นต้นอ่อน หากให้สารกลุ่มนี้มากเกินไปก็ทำให้อวัยวะมีลักษณะผิดปกติได้ เช่น BA (N6-benzyladenine) รวมถึงสารกลุ่ม cytokinin ชนิดอื่น ที่ใช้กระตุ้นให้มีการพัฒนาทางยอด ถ้า BA 0.5 มิลลิกรัม/ลิตร ช่วยให้เกิดยอดอ่อนได้ 1-2 ยอด/ชิ้น การใช้ BA 1 มิลลิกรัม/ลิตร มักจะกระตุ้นให้เกิดยอดอ่อนจำนวนมากขึ้น แต่ยอดจะไม่ค่อยยืดยาว ใบค่อนข้างเล็ก และหากเพิ่มปริมาณ BA มากขึ้นเป็น 1.5-2 มิลลิกรัม/ลิตร จะเกิดยอดอ่อนขนาดเล็กอยู่ชิดกัน ใบเล็กมากหรือแผ่นใบไม่พัฒนา และข้อจะอยู่ชิดกันมากขึ้นจนอาจเห็นเป็นกระจุกใบขนาดเล็ก เป็นต้น แต่อาการเช่นนี้จะดีขึ้นเมื่อย้ายเนื้อเยื่อไปในอาหารใหม่ที่มี BA น้อยลง หรือไม่มีเลย เนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตขึ้นใหม่มักจะเจริญเติบโตได้ปกติ ส่วน NAA (naphthaleneacetic acid) ที่มีผลกระตุ้นการออกราก เมื่อใช้มากเกินไปมักจะทำให้เนื้อเยื่อรากติดกันเป็นแผง เป็นต้น




ร่วมแสดงความคิดเห็น