พืชพื้นบ้านของไทยมีหลากหลายชนิดแต่ละชนิดมีคุณค่าและประโยชน์แตกต่างกันไป พืชส่วนใหญ่ที่คนทั่วไปรู้จักมักเป็นพืชผักที่ใช้เป็นอาหารและสมุนไพร ผักหนามก็เช่นเดียวกัน ชาวล้านนารู้จักผักหนามเป็นระยะเวลายาวนานในแง่มุมของการนำไปเป็นอาหารพื้นบ้าน แต่หลายท่านอาจยังไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อ ดังนั้นเราควรมาทำความรู้จักกับผักหนามและประโยชน์ของผักหนามกัน
ผักหนาม เป็นชื่อที่เรียกทั่วไป มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lasia spinosa (L.) Thw. เป็นพืชพื้นบ้านที่มีอายุหลายปี เจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ พบได้ตามพื้นที่ชุ่มชื้น ริมแม่น้ำและลำคลอง ผักหนามจะแทงยอดจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ทุกส่วนของต้นมีหนาม ใบเป็นใบเดี่ยว มีสีเขียวถึงเขียวเข้ม เป็นมันเงา มีหลายรูปทรงและหลายขนาด มีทั้งใบรูปหัวใจ ใบเป็นแฉก ใบหยักเป็นรูปต่างๆ ใบมีหนามโดยเฉพาะด้านใต้ใบ ผักหนามหนึ่งต้นจะมีใบ 1-3 ใบ ก้านใบกลมและยาวได้ถึง 1 เมตร ดอกของผักหนามมีลักษณะเป็นช่อ ก้านดอกยาว มีกาบหุ้มช่อดอกสีม่วงแดงหรือสีน้ำตาลม่วงปลายแหลมยาวหุ้มดอกไว้ ดอกย่อยรวมกันเป็นแท่งรูปทรงกระบอกสีชมพูม่วง ยาวประมาณ 3-4 ซม. ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม หลังจากที่ดอกได้รับการผสมแล้วจึงพัฒนาเป็นผลอยู่บนก้านดอก ผลค่อนข้างกลม ผิวขรุขระ สีเขียว ผลแก่สีน้ำตาล เมล็ดมีสีน้าตาลอ่อน (ภาพที่ 1-3)
การขยายพันธุ์ผักหนามสามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ด และการแยกเหง้าจากต้นเดิมโดยนำเหง้าที่มีตามาตัดเป็นท่อนแล้วนำมาปลูกในกระถางหรือแปลงปลูก แต่โดยปกติชาวบ้านไม่นิยมนำผักหนามมาปลูก แต่จะปล่อยให้ขึ้นเองเจริญเติบโตตามธรรมชาติ พอถึงช่วงแทงยอดอ่อนชาวบ้านจะไปเก็บเพื่อนำมาปรุงอาหารและหากพบว่ามียอดอ่อนจำนวนมากก็จะนำไปจำหน่าย ยอดอ่อนของผักหนามสามารถนำไปลวกหรือนึ่งกินกับน้ำพริก และทำเป็นแกงหรือผัดก็ได้ เมนูจากผักหนาม อาทิเช่น ยอดผักหนามลวกกับน้ำพริกปลา น้ำพริกอ่อง หรือ น้ำพริกปลาร้า จอผักหนาม เป็นต้น
สำหรับคุณค่าทางอาหารที่พบมากในผักหนามเมื่อนำยอดอ่อนไปวิเคราะห์ได้แก่ โปรตีน 2.20 (กรัม/100กรัม) คาร์โบไฮเดรต 2.54 (กรัม/100 กรัม) ใยอาหาร 1.93 (กรัม/100 กรัม) แคลเซียม 75.40 (มิลลิกรัม/100 กรัม) ฟอสฟอรัส 37.60 (มิลลิกรัม/100 กรัม) โพแทสเซียม 353.60 (มิลลิกรัม/100 กรัม) วิตามินเอ และวิตามินอี
การใช้ประโยชน์จากผักหนามส่วนใหญ่จะเน้นการเป็นอาหาร แต่สำหรับคนที่รักความสวยงามของต้นไม้จะพบว่า ความงามของใบ ช่อดอก และลักษณะทรงต้นของผักหนามสามารถนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้กระถางสำหรับประดับอาคารสถานที่ให้สวยงามได้ไม่ด้อยไปกว่าพืชประดับชนิดอื่นเลย
โรคของผลไม้หลังเก็บเกี่ยว |
ทำไมเปิดไฟให้ต้นไม้ |
สะแล พืชพื้นบ้านที่มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการ |
ความสับสนในสมุนไพรวงศ์ขิง |
Internet of Things สำหรับ Smart Farmer |
บทความทั้งหมด |