ความสับสนในสมุนไพรวงศ์ขิง

พืชที่อยู่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) มีลักษณะเด่นคือเป็นพืชล้มลุกหลายฤดู มีลำต้นใต้ดินแบบไรโซมหรือเหง้า และมีกลิ่นเฉพาะซึ่งเกิดจากน้ำมันหอมระเหย พืชวงศ์ขิงในโลกมีประมาณ 1,500 ชนิด ภูมิประเทศในเขตร้อนชื้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ที่พบพืชวงศ์ขิงหลายชนิดมาก สำหรับประเทศไทยคาดว่าพบประมาณ 300 ชนิด พืชกลุ่มนี้นับว่าเป็นพืชที่มีวิวัฒนาการสูง เช่นมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของโครงสร้างดอก หรือโครงสร้างบางส่วนหายไป การระบุชนิด (species) ของพืชวงศ์ขิงนั้นทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากพืชวงศ์นี้มีความแปรผันของลักษณะสูง จึงควรตระหนักว่าชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชนั้นมีความสำคัญ และจำเป็นในการใช้สื่อสารในระดับสากลที่จะไม่เกิดความสับสน และมีความแม่นยำในการนำพืชใดๆ มาใช้ประโยชน์ ซึ่งนักพฤกษศาสตร์พยายามศึกษาหาเครื่องมือการจัดจำแนกและนำไปสู่การตรวจสอบชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชให้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำในที่สุด (พวงเพ็ญ, 2008) คนไทยนำพืชวงศ์ขิงมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวางและสืบทอดกันมาเป็น “ภูมิปัญญาพื้นบ้าน” ที่มีคุณค่า พืชในวงศ์ขิงหลายชนิดถูกนำมาใช้ประกอบอาหาร เป็นเครื่องเทศ และเป็นสมุนไพรที่มีความสำคัญ เช่น ขิง (Zingiber officinale) ข่า (Alpinia galanga) ขมิ้น (Curcuma longa) กระชาย (Boesenbergia rotunda) กระวาน (Amomum testaceum) ไพล (Zingiber cassumunar) เปราะ (Kaemferia sp.) รวมถึงว่านต่างๆ


ว่านบางชนิดมีการใช้ชื่อที่สับสนทั้งชื่อสามัญ หรือแม้กระทั่งชื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะมีผลกระทบถึงการนำไปใช้ประโยชน์ที่อาจผิดพลาดได้ เช่น ว่านนางคำ เป็นชื่อสามัญที่แพทย์แผนไทยใช้เรียกสมุนไพรสกุลขมิ้น 3 ชนิด แต่ละชนิดก็มีสรรพคุณและลักษณะของลำต้นที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่


  1. ว่านนางคำ ชนิดต้น ก้านและกาบใบเป็นสีแดง เนื้อในหัวมีสีเหลือง ใบสีเขียวเรียว (มีสรรพคุณช่วยกระทุ้งพิษในร่างกาย แก้ฟกช้ำบวม แก้พิษว่านอื่น ๆ)
  2. ว่านนางคำ ชนิดต้นสีเขียว เนื้อในหัวมีสีขาว (มีสรรพคุณช่วยแก้ฤทธิ์ว่านทั้งปวง)
  3. ว่านนางคำ ชนิดต้นเขียว กลางใบมีสีแดง เนื้อในหัวมีสีเหลืองเข้ม ใบมีขนาดใหญ่ และเป็นชนิดที่นิยมปลูกโดยทั่วไป (หัวมีสรรพคุณรักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ แก้อาการปวด ช่วยขับลม แก้อาการฟกช้ำ ข้อเคล็ด รากเป็นยาสมานแผล ยาขับเสมหะ แก้ท้องร่วง รักษาโรคหนองใน)


จากการสืบค้นพบว่าว่านนางคำทั้ง 3 ชนิดถูกกำกับด้วยชื่อวิทยาศาสตร์ชื่อเดียวกันคือ Curcuma aromatica Salisb. หรือ Curcuma zedoaria Roxb. ซึ่งน่าจะเป็นชื่อของว่านนางคำชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีการตรวจสอบการจัดจำแนก และควรระบุชื่อวิทยาศาสตร์ของว่านนางคำแต่ละชนิด


สมุนไพรอีกชนิดที่เป็นที่รู้จักกันมากคือ ว่านชักมดลูก มีสรรพคุณตามตำรายาไทยที่ใช้เหง้ารักษาอาการของสตรี เช่นประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ตกขาว ขับน้ำคาวปลา แก้ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย ริดสีดวงทวาร และไส้เลื่อน การอ้างถึงชื่อวิทยาศาสตร์นั้น นักพฤกษศาสตร์ใช้ชื่อ Curcuma xanthorhiza Roxb. ซึ่งมีหัวขนาดใหญ่ เนื้อในสีเหลืองเข้ม (พวงเพ็ญ, 2008; Sirisawad et al., 2003) ขณะที่พร้อมจิต (2555) ซึ่งเป็นนักเภสัชศาสตร์กล่าวถึง Curcuma xanthorrhiza ว่าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย มีลักษณะคล้ายว่านชักมดลูกของไทยรวมทั้งมีสรรพคุณคล้ายกัน แต่พบว่ามีสารสำคัญคนละกลุ่มกัน โดยมีการวิจัยในต่างประเทศค่อนข้างมาก และได้ระบุว่ามีว่านชักมดลูกตัวเมีย (Curcuma comosa) และว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia) โดยว่านชักมดลูกตัวเมียมีลักษณะหัวกลมรีตามแนวตั้ง แขนงสั้น ส่วนว่านชักมดลูกตัวผู้มีลักษณะแตกต่างไปเล็กน้อย คือหัวใต้ดินจะกลมแป้นกว่า แขนงข้างจะยาวกว่า บางครั้งแขนงข้างถูกตัดออกหรือหักไป ทำให้จำแนกไม่ชัดเจนนัก หากผ่าดูเนื้อในเปรียบเทียบกัน ว่านตัวเมียจะมีสีขาวนวล วงในมีสีชมพูเรื่อ ๆ ทิ้งไว้สีชมพูจะเข้มขึ้น ส่วนเนื้อในว่านตัวผู้มีสีคล้ายกัน แต่วงในออกสีเขียวแกมเทาอ่อน ๆ ทิ้งไว้จะออกสีชมพูเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน บุคคลทั่วไปไม่มีตัวอย่างเทียบเคียงจะจำแนกได้ยาก อย่างไรก็ตามว่านชักมดลูก 3 ชนิดดังกล่าวมีลักษณะต่างกันและใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ต่างกัน การอ้างถึงชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชจึงควรพิจารณาถึงลักษณะของพืชประกอบ


ภาพที่ 1 เหง้าของว่านนางคำชนิดต่างๆ

อย่างไรก็ตามทั้งว่านนางคำ และว่านชักมดลูก เป็นชื่อสามัญที่มีการเรียกชื่อพ้องกัน ซึ่งควรมีความร่วมมือระหว่างนักพฤกษศาสตร์และแพทย์แผนไทยในการวิเคราะห์ลักษณะและจัดจำแนกให้ตรงกันเพื่อการใช้ประโยชน์ได้ถูกต้องแม่นยำเป็นสากล


เอกสารอ้างอิง

พร้อมจิต ศรลัมพ์. 2555. ว่านชักมดลูก. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/92/ว่านชักมดลูก/

พวงเพ็ญ ศิริรักษ์. 2008. การศึกษาพืชวงศ์ขิง (Zingiberaceae) ในประเทศไทย. NU. International journal of Science 5(2): 119 – 128.

https://www.sci.nu.ac.th/sciencejournal/index.php/journal/article/view/140/pdf

Sirisawad, T., P. Sirirugsa, C. Suwanthada and P. Apavatjrut. 2003. Investigation of chromosome numbers in 20 taxa of Curcuma. Proceeding of the 3rd symposium of the family Zingiberaceae.



ร่วมแสดงความคิดเห็น