สะแล พืชพื้นบ้านที่มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการ

พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมีพืชพื้นบ้านหลากหลายชนิดที่ถูกนำมาใช้เป็นอาหาร เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการ อุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญและมีความปลอดภัยจากสารเคมีต่างๆเพราะเป็นพืชที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติ นอกจากใช้เป็นอาหารแล้วยังสามารถนำส่วนต่างๆของพืชพื้นบ้านเหล่านี้ เช่น ใบ ดอก ลำต้น และราก มาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคตามตำรายาพื้นบ้านได้อีกด้วย


สะแล (Broussonetia Kurzii (Hook.f.) Corner) จัดเป็นพืชพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย มีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น แกแล ข่อย่าน คันซง ซงแดง ซง ซะแล แทแหล และ สาแล ชาวบ้านนิยมนำมาปรุงอาหาร มีลักษณะเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย อายุหลายปี ลำต้นแตกกิ่งก้านจำนวนมาก มีการผลัดใบเพื่อออกดอก [ภาพที่ 1] ดอกมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียซึ่งแยกกันอยู่คนละต้น ดอกเพศเมียมีลักษณะกลมๆ ชาวบ้านมักเรียกว่า สะแลป้อม [ภาพที่ 2-ก] ดอกเพศผู้ลักษณะยาวเรียกว่า สะแลยาว [ภาพที่ 2-ข] สะแลพบได้ทั่วไปทางภาคเหนือ ตามป่าและมีการนำไปปลูกตามบ้านเรือนชาวบ้าน โดยนิยมนำดอกมาปรุงอาหาร ดอกที่นิยมนำมารับประทานมักเป็นสะแลป้อม สะแลเป็นพืชที่ออกดอกตามฤดูกาล ทำให้ราคาดอกสะแลที่จำหน่ายตามตลาดชุมชนที่ออกมาช่วงต้นฤดูราคาค่อนข้างสูง อาจถึงกิโลกรัมละ 150-200 บาท ชาวบ้านนิยมนำดอกสะแลมาทำอาหารประเภทแกงต่างๆ อาทิ แกงสะแลใส่หมู สะแลมีทั้งคุณค่าทางอาหารและการเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน โดยภูมิปัญญาชาวบ้านได้มีการนำส่วนของเปลือกและใบมาต้มแล้วนำน้ำต้มดื่มแก้อาการบวมอันเกิดจากโรคไต หัวใจพิการ น้ำเหลืองเสีย เป็นต้น


งานวิจัยพืชพื้นบ้านในปัจจุบันได้มุ่งเน้นการนำพืชพื้นบ้านหลายชนิดมาศึกษาถึงคุณค่าทางอาหารหรือคุณค่าทางโภชนาการเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆต่อไป เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร อาหารเสริมสุขภาพ เป็นต้น สำหรับคุณค่าทางอาหารหรือคุณค่าทางโภชนาการของสะแล จากงานวิจัยพบว่า ดอกอ่อนของสะแลป้อม 100 กรัมมี ปริมาณโซเดียม 8.51 มิลลิกรัม แคลเซียม 39.10 มิลลิกรัม เหล็ก 1.65 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 110.60 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 379.60 มิลลิกรัม มีปริมาณโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและใยอาหารสูง ซึ่งปริมาณธาตุอาหารที่พบในสะแลจัดว่าอยู่ในปริมาณที่สูงโดยเฉพาะโพแทสเซียมและฟอสฟอรัส อีกทั้งสะแลยังมีเบต้าแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 นอกจากนี้ยังพบอีกว่าสะแลมีปริมาณแอนติออกซิแดนท์ทั้งหมด และปริมาณโพลิฟีนอลทั้งหมดสูง จากผลวิเคราะห์ดังกล่าวสะแลจัดเป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางอาหารไม่ด้อยไปกว่าพืชชนิดอื่น สะแลจึงเป็นพืชพื้นบ้านที่มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการ


ภาพที่ 1 ลักษณะต้นสะแล

ภาพที่ 2 ดอกสะแลป้อม (ก.) และดอกสะแลยาว (ข.)



ร่วมแสดงความคิดเห็น