โรคของผลไม้หลังเก็บเกี่ยว

รูปที่ 1 โรคของผลไม้หลังเก็บเกี่ยว

  โรคที่เกิดกับพืชหลังการเก็บเกี่ยว เป็นโรคที่เกิดหลังจากผลิตผลพืชเก็บเกี่ยวแล้วและอยู่ระหว่างการเก็บรักษา การขนส่งหรือแปรรูป ผลิตผลพืชและสภาพแวดล้อมต่างๆที่มีต่อพืชหลังการเก็บเกี่ยวจะแตกต่างไปจากพืชที่อยู่ในไร่ สวนหรือแปลงปลูก เช่น ลักษณะและสภาพทางสรีรวิทยาของผลิตผล ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ผลไม้หลังการเก็บเกี่ยวเมื่อมีการเก็บรักษาไว้ในสภาพอุณหภูมิห้องปกติมักมีการเน่าเสียได้ง่าย ซึ่งสาเหตุของโรคหลังเก็บเกี่ยว มีดังนี้

  1. เกิดจากสภาพสรีรวิทยาของผลไม้ ได้แก่ - ออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้เนื้อเยื่อภายในผลไม้ตาย มีสีน้ำตาลดำ
  2. Ester ที่ได้จากการ metabolism ของผลิตผลตามปกติ เป็นพิษเพราะมีสะสมมากเกินไป เช่น แอปเปิ้ล ทำให้ผิวของผลมีมีน้ำตาล ผิวจะพองและเนื้อ เยื่อสลายตัว
  3. การช้ำเพราะอากาศเย็นเกินไป (chilling injury)
  4. อุณหภูมิที่เก็บผลไม้สูงเกินไป ทำให้อัตราการหายใจของผลิตผลสูง
  5. เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์


  สาเหตุสำคัญของโรคผลไม้หลังเก็บเกี่ยว เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนทั้งจากตัวผลิตผลเองและจากสภาพแวดล้อม ทำให้คุณภาพลดลง จากการเน่าเสียของผลไม้ ทำให้มีอายุการเก็บรักษาสั้น ไม่สามารถส่งไปขายยังตลาดทั้งภายในและต่างประเทศได้ ดังนั้นการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวโดยวิธีป้องกันกำจัดโรค สามารถลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้จากเชื้อสาเหตุโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยว ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์ โดยลักษณะการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ จะสามารถเข้าทำลายได้โดยช่องทางต่างๆ ได้แก่ ทางช่องเปิดธรรมชาติ เช่น ปากใบ (stoma) และเลนติเซล (lenticels) เข้าทางบาดแผล และเข้าทำลายโดยตรง โดยเชื้อราสามารถสร้างโครงสร้างพิเศษ ที่เกิดจากการขยายขนาดของ germ tube ซึ่งงอกมาจากสปอร์ เรียกว่า appressorium เพื่อยึดเกาะกับพื้นผิวของพืช ก่อนการแทงทะลุเข้าสู่เซลล์ของพืชจากปลายเส้นใยด้วย penetration (infection) peg ผ่านเข้าไปในเซลล์ เจริญเป็นเส้นใย หลังจากนั้นเส้นใยหยุดการเจริญ และสร้างโครงสร้างที่เรียกว่า haustorium แฝงอยู่ในระหว่างเซลล์บริเวณผิวของผลเพื่อดูดซึมอาหารจากเซลล์พืช จนกระทั่งผลไม้สุก เชื้อราจึงสามารถเจริญและแสดงอาการของโรคปรากฏออกมา การเข้าทำลายแบบนี้เรียกว่า การเข้าทำลายแบบแฝง (Latent Infection) ซึ่งเป็นลักษณะการเข้าทำลายที่สำคัญของเชื้อราก่อโรคแอนแทรคโนสในมะม่วงและไม้ผลหลายชนิด


  การแพร่ระบาดของโรคพืชหลังเก็บเกี่ยว เกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกันระหว่างผลปกติกับผลที่เป็นโรค หรือหยดน้ำกระเด็นมาถูกผลิตผลหรือน้ำฝนที่ตกลงมากระทบสปอร์ของเชื้อแล้วสปอร์ถูกลมพัดไป ตกลงบนพื้นผิวของผลไม้ ตลอดจนเชื้อที่มาจากกิ่ง ก้าน ใบ เศษซากพืช และดิน ที่มีเชื้อสาเหตุโรคสะสมอยู่ ที่มีโอกาสสัมผัสกับผลไม้ ถ้ากรณีผลไม้มีบาดแผลหรือรอยช้ำที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเก็บเกี่ยว การขนส่ง การบรรจุในภาชนะ ก็ยิ่งทำให้โรคมีโอกาสแพร่ระบาดกระจายไปทั่วมากยิ่งขึ้น


การควบคุมโรคพืชหลังเก็บเกี่ยว
  การควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยว สามารถกระทำได้หลายวิธี ได้แก่

  1. การใช้ความร้อน สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบริเวณผิวและภายในเนื้อเยื่อพืช ทำให้เชื้อราอ่อนแอตายได้ แต่ระดับอุณหภูมิที่ทำให้เกิดความร้อนต้องไม่เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อพืช โดยทั่วไปใช้อุณหภูมิระหว่าง 50-60 องศาเซลเซียส ซึ่งให้ผลดีในการควบคุมโรคในผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวหลายชนิด
  2. การใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ กลไกการทำงานของเชื้อ เกี่ยวข้องกับ การแข่งขันแย่งชิงอาหารและพื้นที่ครอบครองบนเซลล์พืช (competition) การสร้างสารปฎิชีวนะ (antibiosis) การเป็นปรสิต (parasitism) และการชักนำความต้านทานในเนื้อเยื่อพืช (induced resistance)
  3. การใช้สารเคมีที่ปลอดภัย สารกลุ่ม generally recognized as safe (GRAS) บางชนิดสามารถยับยั้งการงอกและการเจริญของเส้นใยเชื้อราได้ เช่น ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ กรดอะซิติก เกลือคาร์บอเนต เป็นต้น
  4. การชักนำความต้านทาน โดยตัวกระตุ้น (elicitor) ต่างๆ เช่น เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ ความร้อน รังสีอัลตราไวโอเลต เป็นต้น สามารถชักนำให้ผลไม้สร้างสารต่อต้านเชื้อรา เช่น สารกลุ่ม phenolic compound ที่มีคุณสมบัติยับยั้งหรือเป็นพิษต่อเชื้อโรค เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง –เรียบเรียงจาก หนังสือ “มะม่วง การผลิตและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว” บทความโดย ปริญญา จันทรศรี จัดพิมพ์โดย ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 836 หน้า.



ร่วมแสดงความคิดเห็น