มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมลงนามกับ อีอีซีและภาคีภาครัฐ-เอกชน หนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะ และรับ-ส่งพนักงานในพื้นที่ อีอีซี

อีอีซี รวมพลังภาคีภาครัฐ เอกชน MOU หนุน ใช้ รถยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะและรับส่งพนักงานในพื้นที่ อีอีซี พร้อมร่วมพัฒนาระบบนิเวศน์การลงทุน นำร่อง ปี 66 เกิดรถโดยสารไฟฟ้า 100 คัน คาดใน 2 ปีเพิ่มเป็น 10,000 คัน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 5 แสนตัน/ ปี จูงใจดึงลงทุนคลัสเตอร์ EV และ BCG รวม 40,000 ล้านบาท

 

วันที่ 28 ก.ย. 2566 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ลงนามบันทึกความเข้าใจ ( MOU) การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ และรถรับส่งพนักงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกับ นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) และ นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีถ่ายทอดองค์ความรู้ ขับเคลื่อนการลงทุนและใช้ประโยชน์จากรถยนต์ไฟฟ้า ในระบบขนส่งสาธารณะ และรับส่งพนักงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่อีอีซี อย่างยั่งยืน ณ ห้อง Conference 1-2 สำนักงานอีอีซี

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนามฯ MOU ครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือสำคัญจากภาคีภาครัฐ และเอกชน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในเศรษฐกิจ BCG ผลักดัน ให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศน์ ดึงดูดการลงทุนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า EV ใน พื้นที่ อีอีซี ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นที่ตั้งและฐานการผลิต EV แห่งภูมิภาค โดยภายใต้กรอบความร่วมมือ MOU ดังกล่าว จะส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่แพร่หลายในระบบขนส่งสาธารณะ และการรับส่งพนักงาน ประชาชนในพื้นที่ อีอีซี เข้าถึงบริการดังกล่าวได้อย่างสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ผลักดันให้เกิดการผลิต และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาให้พื้นที่อีอีซี เป็นพื้นที่ Net Zero Carbon Emission ในภาคอุตสาหกรรม โดยระยะ 5 ปี แรก สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10% และ การลงทุนใหม่ในพื้นที่ 40% ต้องมีแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว สร้างการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ อีอีซี จะเชื่อมประสานความร่วมมือพัฒนากลไกการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ โดยทุกฝ่ายจะร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การถ่ายทอดองค์ความรู้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการติดตั้งสถานีชาร์ทไฟฟ้าเพื่อรองรับรวมไปถึงขยายผลสร้างมูลค่าเพิ่มโครงการ ฯ โดยอีอีซี จะร่วมขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศน์จูงใจให้เกิดการลงทุน เช่น เรื่องสิทธิประโยชน์รูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกเพิ่มความรวดเร็วในการขอใบอนุมัติอนุญาตที่อีอีซีสามารถออกใบอนุญาตแทนหน่วยงานต่างๆ ได้ถึง 44 ใบอนุญาต คาดว่าจะเริ่มได้ในต้นปี 2567 ซึ่งจากความร่วมมือ MOU ครั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดการลงทุนใน 2 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญรวม 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น คลัสเตอร์ EV ประมาณ 30,000 ล้านบาท และคลัสเตอร์ BCG ประมาณ 10,000 ล้านบาท ในปี 2567

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช) กล่าวว่า สอวช. ไดกำหนดกรอบการสนับสนุนทุนวิจัยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้มลพิษรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับการขบเคลื่อนด้านนวัตกรรม สำหรับความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จะสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี เกิดการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงระบบมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับการขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมต้นน้ำได้ และจะสนับสนุนศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในอนาคต

นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ สวทช. จะเป็นหน่วยงานด้านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่หน่วยงานดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาระบบ EV Charger การพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ เป็นต้น และ สวทช. มีความพร้อมในการสนับสนุนการทดสอบเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้จริง และเป็นการยกระดับระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ อีอีซี และจะสนับสนุนผู้ประกอบในการทดสอบมาตรฐานเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ สวทช. ที่ต้องการสนับสนุนเทคโนโลยี ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำต่อไป

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าว่า การลงนาม MOU ครั้งี้ จะเป็นโครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบการใช้รถโดยสารไฟฟ้าสำหรับขนส่งสาธารณะและรับ-ส่งพนักงานสำหรับประชาชน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในพื้นที่อีอีซี โดยคาดว่าในปี 2566 นี้จะเกิดรถไฟฟ้าอย่างน้อย 100 คัน พร้อมสถานีชาร์ทช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 5 พันตันต่อปี เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และพัฒนาวัตถุดิบสินค้าในประเทศ (local content) เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 60% สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากกว่า 360 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 2 ปี หากสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารไฟฟ้าได้ 10,000 คัน จะมีมูลค่าการลดทุนมากกว่า 60,000 ล้านบาท เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากกว่า 48,000 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 5 แสนตันต่อไป